รู้ยังคลัทช์

 

          คลัทช์ คืออะไร

     เป็นอุปกรณ์ที่เป็นตัวตัด หรือต่อกำลัง ที่ส่งมาจากเครื่องยนต์ในการเปลี่ยนเกียร์ โดยอาศัย

     ความฝืดระหว่างแผ่นคลัทช์ กับแผ่นกดคลัทช์ และล้อช่วยแรง ติดตั้งอยู่ระหว่าง เครื่องยนต์กับระบบเกียร์

     ทำให้เปลี่ยนเกียร์ได้ ในความเร็วต่างๆ หากไม่มีคลัทช์ รถจะไม่สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้ ดังนั้นรถจะวิ่งไม่ได้

     นอกจากนี้รถเกียร์ออโต้ ก็ต้องอาศัยคลัทช์เช่นกัน เราเรียกว่า คลัทช์แบบออโต้ ทำงานโดยอาศัยความเร็วรอบเครื่องยนต์เป็นหลัก

     เมื่อความเร็วรอบของเครื่องยนต์อยู่ในขณะเดินเบา แผ่นคลัทช์จะเลื่อนออก เมื่อความเร็วรอบเครื่องยนต์สูงขึ้น

     แรงกดคลัทช์จะกระทำกับแผ่นคลัทช์ ทำให้เกียร์เข้าได้โดยอัตโนมัติ

 

          ส่วนประกอบของคลัทช์ มีดังนี้

 

          

 

     ฝาครอบคลัทช์ เป็นชิ้นส่วนที่หุ้มแผ่นคลัทช์ แผ่นกดคลัทช์ และชิ้นส่วนอื่นๆ ของคลัทช์จะถูกยึดติดด้วยโบลท์

     เข้ากับล้อช่วยแรง ฝาครอบทำจากโลหะเหล็กหล่อ ประกอบด้วยแขนกดคลัทช์ และจานกดคลัทช์

 

     ล้อช่วยแรง มีหน้าที่เป็นตัวสะสมแรงเฉื่อย และถ่ายเทกำลังงานที่สะสมไว้ ไปหมุนเพลาข้อเหวี่ยงต่อไป

     ถ้าไม่มีล้อช่วยแรง เครื่องยนต์ก็จะไม่มีกำลังทำให้เครื่องยนต์สั่น และช่วยในการสตาร์ทเครื่องยนต์

 

     แผ่นคลัทช์ ลักษณะเป็นจานกลม ทำจากเหล็กกล้าแผ่นบาง ติดกับเพลาที่เข้าสู่ห้องเกียร์ แผ่นคลัทช์จะมีผ้าคลัทช์ยึดอยู่

     ความฝืดบนผ้าคลัทช์ ช่วยถ่ายกำลังจากล้อช่วยแรงไปที่เกียร์

 

     ผ้าคลัทช์ ยึดอยู่บนแผ่นคลัทช์ ทำมาจากสารสังเคราะห์ผสมกับใยโลหะผ้าคลัทช์จะยึดกับแผ่นคลัทช์ทั้ง 2 ด้าน

     ด้วยหมุดย้ำผ้าคลัทช์ ต้องแข็งแรง ทนต่อแรงกระตุก กระแทก จากการถ่ายกำลัง และทนต่อความร้อนสูง

 

     ลูกปืนกดคลัทช์ ติดอยู่กับตัวก้ามปูคลัทช์ ทำหน้าที่กดหวีคลัทช์ให้เคลื่อนที่ไปในแนวทิศทางเดียวกับล้อช่วยแรง

     เพื่อดึงแผ่นกดคลัทช์ให้เคลื่อนที่ถอยออกมา

 

     เพลาคลัทช์ ทำจากเหล็ก มีความแข็งแรง ทนต่อการสึกหรอได้สูง ทำหน้าที่เป็นตัวถ่ายทอดกำลังที่ได้จากแผ่นคลัทช์ไปยังกระปุกเกียร์

 

     ชุดกดแผ่นคลัทช์ ทำหน้าที่ยึดกดแผ่นคลัทช์ให้แนบกับล้อช่วยแรง โดยมีสปริงกดอยู่ที่ด้านหลังของแผ่นกดคลัทช์

     หน้าสัมผัสของแผ่นกดคลัทช์ต้องเรียบเสมอกัน หากแผ่นกดมีแรงกดไม่สม่ำเสมอ จะทำให้แรงกดที่แผ่นคลัทช์เอียง

     และเกิดการเสียดสี ทำให้เกิดความร้อน,สึกหรอ อาจทำให้คลัทช์ลื่นได้

 

     ปั๊มคลัทช์ตัวบน คอยควบคุมการทำงานของปั๊มคลัทช์น้ำมัน มักใช้กับรถที่มีกำลังสูง

     ซึ่งต้องใช้สปริงกดดันแผ่นคลัทช์ ที่แข็งมากขึ้น เพื่อทำให้แรงดันแผ่นกดคลัทช์ติดกับแผ่นคลัทช์แน่น และมีแรงเพียงพอ

 

     ปั๊มคลัทช์ตัวล่าง ติดอยู่กับชุดคลัทช์ มีหน้าที่รับแรงดันน้ำ จากปั๊มตัวบนเมื่อเหยียบคลัทช์

     แรงดันน้ำมันจะส่งไปตามท่อน้ำมันที่ต่อร่วมกัน โดยเปลี่ยนแรงดันน้ำมัน ให้เป็นกำลังกลไกไปควบคุมบังคับให้คลัทช์ทำงาน

 

          วิธีใช้คลัทช์ที่ถูกต้อง

 

     

 

     อายุการใช้งานของคลัทช์ เฉลี่ยที่ประมาณ 150,000 - 200,000 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับการขับด้วย วิธีใช้คลัทช์อย่างถูกต้อง มีดังนี้

 

     ไม่ควรแช่คลัทช์ เวลาเหยียบคลัทช์ ไม่ควรเหยียบแช่ค้าง ควรถอนเท้าออกให้สุดทุกครั้ง

     พฤติกรรมแบบนี้มักเกิดขึ้นในที่มีการจราจรแออัด

 

     ไม่ควรออกรถกระชากคลัทช์ การออกรถแรง คนขับจะปล่อยคลัทช์เร็วเกินไป จะส่งผลให้คลัทช์สึกหรอเร็ว

     และทำให้ระบบเกียร์เกิดปัญหาตามมา ควรปล่อยคลัทช์ให้ถูกจังหวะ และสัมพันธ์กับคันเร่งทุกครั้ง

 

     ไม่ควรเหยียบคลัทช์โดยเปล่าประโยชน์ ควรใช้คลัทช์ควรใช้เมื่อต้องการที่จะเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์เท่านั้น

     หากใช้โดยเกินความจำเป็น เช่น เวลาเบรค ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า ก็ต้องเหยียบคลัทช์ไว้ก่อน พฤติกรรมแบบนี้ก็ควรเปลี่ยนเสีย

 

     ไม่พักเท้าไว้ที่คลัทช์ รถรุ่นใหม่มักมีที่พักเท้ามาให้ คนขับมักชอบพักเท้าไว้ที่คลัทช์

     เพื่อความสะดวกเวลาเปลี่ยนเกียร์ แต่พฤติกรรมแบบนี้ อาจจะทำให้คลัทช์สึกหรอเร็วกว่าปกติ

 

          ขั้นตอนการตรวจเช็คคลัทช์เบื้องต้น

     ดึงตัวล็อคฝากระโปรงภายในรถออก เปิดฝากระโปรงหน้า แล้วตั้งไม้ค้ำฝากระโปรงให้แข็งแรง แล้วหากระปุกน้ำมันคลัทช์

     วิธีสังเกตกระปุกจะมีขนาดเล็กกว่าน้ำมันเบรค เมื่อตรวจเช็คน้ำมันคลัทช์ ให้อยู่ในระดับ FULL อยู่เสมอ ถ้าอยู่ในระดับปกติแล้ว

     ให้ลองสตาร์ทเครื่องยนต์ แล้วเหยียบคันเร่งให้รอบเครื่องสูงประมาณ 4,000 รอบ/นาที จากนั้นใส่เกียร์สูงที่สุดของรถ เช่น เกียร์5

     แล้วทำการปล่อยคลัทช์พร้อมกับเหยียบคันเร่งให้สุด โดยต้องทำให้สัมพันธ์กัน ให้ดูที่รอบเครื่องยนต์ของรถ หากเครื่องดับทันที

     แสดงว่าคลัทช์ยังดีอยู่ ถ้าหากเครื่องยนต์ยังติดอยู่ แสดงว่าคลัทช์ไม่ดี ควรทำการเปลี่ยนใหม่ แล้วปลดเกียร์ให้อยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง

     ทำการดับเครื่องยนต์ ปิดฝากระโปรงหน้าให้เรียบร้อย

 

          หลังจากที่เราทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบของคลัทช์ วิธีการใช้งานอย่างถูกวิธีและการสังเกตเพื่อไม่ให้คลัทช์เสียก่อนอายุการใช้งาน

     ถือเป็นประโยชน์กับคนใช้รถเป็นอย่างมาก เพราะสามารถช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยน/ซ่อมบำรุงได้อีกด้วยค่ะ