ประเภทของแบตเตอรี่รถยนต์

แบตเตอรี่มีหลายแบบ แบตเตอรี่ที่นิยมใช้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. แบตเตอรี่แบบธรรมดา หรือแบบน้ำ แบตเตอรี่ชนิดนี้มีคุณสมบัติในการทนความร้อนสูง ทนต่อความเป็นกรดสูง ทนต่อประจุไฟฟ้าสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน ราคาไม่แพง แต่ก็มีข้อเสียคือคายประจุไฟฟ้าเองอย่างรวดเร็ว อัดประจุไฟฟ้าช้า เกิดความร้อนสูงขณะชาร์จ ทำให้สูญเสียปริมาณน้ำกรดอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ผู้ที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้จะต้องหมั่นเช็ค และเติมน้ำกลั่นทดแทนอยู่บ่อยๆ

     

ข้อดี: มีความทนทานต่อการปะจุไฟเกินและคายประจุ มีอายุที่ใช้งานค่อนข้างนาน และที่สำคัญราคาถูก

ข้อเสีย: ต้องคอยตรวจสอบระดับน้ำกลั่นก่อนการใช้งานอยู่เสมอ อาจจะสัปดาห์ละครั้งขึ้นอยู่กับการใช้งาน และหากมีการเคลื่อนย้ายตัวแบตเตอรี่ต้องระมัดระวังสารละลายที่อาจรั่วไหลออกมาได้

 

2. แบตเตอรี่แบบกึ่งแห้ง หรือบางที่เรียกว่าแบบที่ไม่ต้องบำรุงรักษา (maintenance free) เป็นแบตเตอรี่ที่ใช้ตะกั่วแคลเซียมทั้งแผ่นธาตุบวก และธาตุลบ ราคาไม่แพงมาก จริงๆ แล้วเป็นแบตเตอรี่ที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นเลย แต่เนื่องจากบ้านเราเป็นประเทศเขตร้อน ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำกรดได้ จึงจำเป็นต้องเติมน้ำกลั่นชดเชยทุกๆ 5-6 เดือน

     

ข้อดี: ไม่ต้องตรวจเช็กหรือคอยเติมน้ำกลั่นบ่อยเหมือนกับแบตเตอรี่น้ำ เพราะภายในแบตเตอรี่มีการป้องกันการระเหยของน้ำกลั่นที่แน่นหนาพอสมควร

ข้อเสีย: แม้จะไม่ต้องเติมน้ำกลั่นบ่อยแต่ก็ต้องหมั่นตรวจเช็กอยู่สม่ำเสมอ อายุการใช้งานอาจไม่นานเท่าแบตเตอรี่น้ำ

 

3. แบตเตอรี่แบบแห้ง เป็นแบตเตอรี่ที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นเลย แต่ก็มีราคาแพงกว่าแบตเตอรี่แบบอื่นๆ เหมาะกับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลรถมากนัก ซึ่งแบบที่ใช้ในบ้านเราเป็นแบบ ที่มีน้ำกรดอยู่ภายในแบตเตอรี่ และถูกซีลปิดไว้ ทนต่อความร้อนสูง แบตเตอรี่ชนิดนี้จะมีรูหายใจอยู่ ถ้าหากรูนี้เกิดการอุดตัน อาจจะทำให้เกิดปัญหาความร้อนได้

     

ข้อดี: เหมาะกับผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาในการดูแลรถยนต์ ไม่ต้องตรวจเช็กบ่อย ๆ ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น แบตเตอรี่ไม่หมด แม้ไม่ได้ใช้รถเป็นเวลานาน

ข้อเสีย: มีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าแบตเตอรี่น้ำ และ แบตเตอรี่กึ่งแห้ง และที่ตัวแบตเตอรี่จะมีรูระบายอากาศ (รูหายใจ) ที่ค่อนข้างเล็กซึ่งอาจอุดตันได้ง่ายและส่งผลให้เกิดปัญหาแรงดันภายในแบตเตอรี่ได้อีกด้วย

 

ส่วนในต่างประเทศที่มีอากาศหนาว อาจจะใช้แบตเตอรี่แบบแห้งชนิดเจล ซึ่งเป็นแบตที่ใช้เจลแทนน้ำกรด ข้อดีคือทำให้น้ำกรดไม่สามารถรั่วซึมออกมาได้ แต่เจลก็สามารถละลายเป็นน้ำกรดได้หากเจออุณหภูมิสูง ซึ่งน้ำกรดนี้จะทำลายเซลล์ในแบตเตอรี่ อีกแบบคือ แบตเตอรี่แบบแห้งชนิด AGM เป็นแบตเตอรี่ที่พัฒนามาจากแบบเจลอีกที มีคุณภาพสูง และให้พลังงานไฟฟ้ามากกว่า และใช้แผ่นใยแก้วเป็นวัสดุพิเศษที่ทำหน้าที่ดูดซับน้ำกรดทั้งหมดไว้ ทำให้น้ำกรดไม่สามารถรั่วไหลออกจากแบตเตอรี่ได้ แต่อุณหภูมิในการทำงานสูงสุดจะอยู่ที่ 55 องศาเซลเซียส

 

 

 

 

สุดท้ายนี้หวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์ สาระความรู้ เกี่ยวกับเรื่องราวของ แบตเตอรี่รถยนต์ เปลี่ยนแบตเตอรี่คราวหน้า นอกจากจะต้องพิจารณาปริมาณแอมป์ ขนาดของแบตเตอรี่กับที่วางแบตเตอรี่ และวันที่ผลิตแล้ว การใช้สไตล์การบำรุงรักษาของตัวเองมาพิจารณาก็จะทำให้คุณตัดสินใจเลือกแบตเตอรี่ได้ง่ายขึ้น